กฎหมาย Cross Border E-Commerce

      เป็นกฎหมายที่ส่งเสริมและควบคุมการซื้อขายสินค้าบน Platform E-Commerce ระหว่างประเทศ โดยประเทศจีนเป็นประเทศแรกที่เริ่มมีการใช้กฎหมาย Cross Border E-Commerce ตั้งแต่ปี 2016 และพัฒนากฎหมาย Cross Border E-Commerce ให้มีความชัดเจนมากขึ้น

      ในวันที่ 1 มกราคม 2019 จีนได้ประกาศใช้กฎหมาย Cross Border E-Commerce ใหม่ ถือว่ากฎหมาย Cross Border E-Commerce เป็นตัวหลักสำคัญในการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศแบบ B2C และเชื่อมโยงสินค้าคุณภาพของทั้งโลกมาอยู่บน E-Commerce Platform เหตุผลเพราะตั้งแต่ปี 2012 คนจีนเริ่มเดินทางออกต่างประเทศมากขึ้น ตลอดจนถึงปี 2019 ปรากฎว่าคนจีนเดินทางออกต่างประเทศถึง 120 ล้านคน รู้จักสินค้าคุณภาพต่าง ๆ จากต่างประเทศมากขึ้น และมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้นด้วย

      กฎหมาย Cross Border E-Commerce เป็นระบบที่ศุลกากรจีนสามารถใช้ตรวจสอบการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศจีน ทำให้รัฐบาลจีนสามารถเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 9.1 จากสินค้าทุกรายการที่ซื้อขายบน e-commerce ซึ่งในปี 2018 จีนมีสินค้าที่มีการซื้อขายแบบ Cross Border E-Commerce ถึงสองแสนล้านดอลลาร์ ทำให้รัฐบาลจีนสามารถจัดเก็บภาษี Cross Border E-Commerce ได้ประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์

      ประเทศไทยเองการซื้อขายสินค้าออนไลน์มีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จาก E-Market place ต่าง ๆ ที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ทำให้ในปี 2019 ประเทศไทยมีการซื้อขายสินค้าบน E-Commerce มากถึง 163,000 ล้านบาท โดยกว่า 80% ของสินค้าที่ขายออนไลน์มาจากประเทศจีน สินค้าที่มาจากประเทศจีนมากที่สุด ได้แก่ สินค้าแฟชั่น, สินค้าเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ แก็ดเจ็ตต่าง ๆ, สินค้าเกี่ยวกับกีฬา และอีก 20% มาจากประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป และ อเมริกา เป็นต้น

      แต่ปัจจุบันสินค้าจากจีนและสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทยใช้กฎหมายไปรษณีย์ คือ สินค้าที่มูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นสินค้าใดก็ตามที่ซื้อขายไม่เกิน 1,500 จะไม่มีการเสียภาษีนำเข้า และบางกรณีมีการนำสินค้าจำนวนมากนำมาเก็บไว้ในพื้นที่ free trade zone เมื่อมีการสั่งซื้อแบบ E-Commerce ถึงนำออกมาเคลียร์ภาษีแต่ละรายการตามคำสั่งซื้อ เพื่อให้มูลค่าสินค้าในแต่ละการสั่งซื้อไม่ถึง 1,500 บาท ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี หากประเทศไทยมีกฎหมาย Cross Border E-Commerce รัฐบาลไทยจะสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นจากสินค้าที่ซื้อขายบน E-Commerce และช่วยเสริมสร้างการค้าออนไลน์ให้พัฒนามากขึ้น

เงื่อนไขกฎหมาย Cross Border E-Commerce ของจีนที่ไทยสามารถนำมาศึกษาให้สามารถใช้กับประเทศไทยได้ มีดังนี้

1. การซื้อสินค้าจากต่างประเทศกำหนดให้หนึ่งคน (ใช้หนึ่งบัตรประจำตัวประชาชน) ซื้อสินค้าออนไลน์ได้ไม่เกิน 5,000 หยวน หรือประมาณ 25,000 บาทต่อการซื้อสินค้าหนึ่งครั้ง และภายในหนึ่งปีกำหนดให้ซื้อได้ไม่เกิน 130,000 บาท ต่อหนึ่งบัตรประจำตัวประชาชน ข้อดีคือ กำหนดเงินที่จะไหลออกไปต่างประเทศได้

2. สินค้าที่จะขายบน Cross Border E-Commerce ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมศุลกากรและไม่ผิดเงื่อนไขต้องห้ามใดที่กรมศุลกากรกำหนด วิธีการเช่นนี้จะทำให้รัฐบาลมีข้อมูลของสินค้าที่มีการซื้อขายนำเข้ามาในประเทศได้ชัดเจนแบบรายชิ้น และควบคุมคุณภาพสินค้าได้

3. การซื้อขายแบบ Cross Border E-Commerce ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินแบบ E-Payment และระบุ Logistics ทั้งจากต่างประเทศจนถึงมือผู้รับในประเทศอย่างชัดเจน ทำให้ ระยะเวลาการจัดส่งสินค้าเร็วขึ้นและ ตรวจสอบสถานะสินค้าได้ตลอดเวลา

4. กฎหมาย Cross Border E-Commerce เป็นกฎหมายพิเศษในการนำเข้าสินค้าทำให้สินค้าหลายประเภทไม่ต้องขอ อย. หรือใบอนุญาตินำเข้าให้เสียเวลา ทำให้ลดระยะเวลาการขอเอกสาร และการเคลียร์สินค้าในพิธีการศุลกากรได้เร็วขึ้น สินค้าจึงจัดส่งถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

กฤตกร  อุตตโม
นายกสมาคม